รายการ ACT Now

ACT Now EP.17

โดย ACT โพสเมื่อ Mar 27,2021

ACT Now EP.17 - แปะเจี๊ยะ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ค่านิยมคอร์รัปชัน
การจ่ายแปะเจี๊ยะราคาแพง ให้กับผู้อำนวยการโรงเรียนและโรงเรียนดังจำนวนมาก พ่อแม่ที่ต้องต่อสู้เพื่อให้ลูกได้เข้าโรงเรียนดังๆ เหล่านี้จำเป็นจะต้องใช้เงินสักเท่าไร 50,000 100,000 200,000 หรือ 300,000 บาท...

ACT Now EP.17 - แปะเจี๊ยะ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ค่านิยมคอร์รัปชัน
แปะเจี๊ยะยุคโควิด ช่วงนี้เป็นฤดูกาลที่พ่อแม่จำนวนมาก จะต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ลูกของตัวเองได้เข้าเรียนโรงเรียนดัง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นทุกๆ ปีที่ผ่านมา เราก็จะได้เห็นข่าวปรากฏตามสื่อมวลชนว่ามีปัญหาเรื่องการจ่ายแปะเจี๊ยะราคาแพง ให้กับผู้อำนวยการโรงเรียนและโรงเรียนดังจำนวนมาก พ่อแม่ที่ต้องต่อสู้เพื่อให้ลูกได้เข้าโรงเรียนดังๆ เหล่านี้ เขาจะต้องเตรียมตัวล่วงหน้ามาแล้วเป็นอย่างดีและจำเป็นจะต้องใช้เงินสักเท่าไร 50,000 100,000 200,000 หรือ 300,000 บาท เพราะฉะนั้นแม้ในช่วงโควิดจะเดือดร้อนปานใดก็ตาม พ่อแม่ก็ยังเป็นพ่อแม่ที่ต้องสู้เพื่อลูกให้ได้
เรื่องนี้เป็นเรื่องของค่านิยมของผู้ปกครองก็เหมือนกับเราไปตลาดนั่นแหละ ใครๆ ก็อยากได้ของดี คนที่มีอำนาจเป็นผู้บริหารโรงเรียนอยากได้เงินเข้ากระเป๋าตัวเอง คนที่เป็นพ่อแม่ก็พร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อให้ลูกตัวเองได้มีโอกาสเข้าไปเรียน เพื่อหวังว่าตัวเองจะได้มีหน้ามีตา ลูกตัวเองได้อยู่ในโรงเรียนดังและเงินที่จ่ายไปก็หวังว่าเป็นเงินที่ใช้ในการซื้อสังคมในอนาคตให้กับลูกของตัวเองซึ่งเป็นเรื่องของกลไกตลาดที่เราคุ้นเคยกันดีครับ
ในขณะเดียวกัน สภาพนี้เกิดขึ้นได้เพราะเป็นเรื่องที่เรารู้กันดีว่าคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในประเทศไทย แต่ละแห่งทั่วประเทศนั้นแตกต่างกัน ใครๆ ก็รู้กันว่าทุกวันนี้คุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนทั่วประเทศในบ้านเราไม่ได้มาตรฐานเดียวกัน ดังนั้นพ่อแม่ทุกคน ใครๆ ก็อยากให้ลูกของตัวเองได้อยู่ในโรงเรียนที่ดีที่สุด ดังที่สุด เพื่อความมั่นใจของตัวเองและดูเหมือนกับว่าไม่มีทางออก แต่ผมเชื่อว่ามีทางออก แล้วตอนหน้าเรามาดูกันว่าเราจะหลุดพ้นจากวงจรแปะเจี๊ยะได้อย่างไร


ACT Now EP.17.1 - แก้ปัญหาแปะเจี๊ยะด้วย “3 มี”เราไม่เคยเห็นมาตรการที่จับต้องได้อะไรเป็นจริงเป็นจังเลย แปะเจี๊ยะจึงยังคงคู่กับโรงเรียนตลอดมา...

ACT Now EP.17.1 - แก้ปัญหาแปะเจี๊ยะด้วย “3 มี”
เรามี “3 มี”
1. มีทางเลือกที่ดี
2. มีโซเชียลมีเดียเป็นพลังในการป้องกัน
3. มีมาตรการเชิงรุกจากป.ป.ช.

ต้องเรียนอย่างนี้นะครับว่าในสภาพปัจจุบัน มีแนวโน้มบางอย่างที่เราคิดว่าแปะเจี๊ยะอาจจะคลี่คลายลงไปในอนาคต

#มีที่1 สิ่งที่เราเห็นก็คือการขยายตัวของหลักสูตรอินเตอร์และโรงเรียนนานาชาติที่กลายเป็นทางเลือกที่ดีของคนที่มีฐานะระดับหนึ่ง

#มีที่ 2 แปะเจี๊ยะเป็นเรื่องของสินบนเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย วันนี้โซเชียลมีเดียมีส่วนอย่างมากในการเปิดเผยเปิดโปง การแฉ ให้รู้ว่าโรงเรียนไหน ครูคนไหน เด็ก ผู้ปกครองของใคร มีการจ่ายแปะเจี๊ยะกันเพราะฉะนั้นแปะเจี๊ยะจึงกลายเป็นเรื่องต้องห้ามที่ต้องทำกันอย่างลับๆ และทำยากยิ่งขึ้น

เรามาดูกลไกในการแก้ไขปัญหาของภาครัฐนะครับ ที่ผ่านมาหลายปีเต็มที เราได้เห็นการประกาศนโยบาย เราได้เห็นการแสดงท่าทีของกระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่ที่ผ่านมา เราไม่เคยเห็นมาตรการที่จับต้องได้อะไรเป็นจริงเป็นจังเลย แปะเจี๊ยะจึงยังคงคู่กับโรงเรียนตลอดมา แต่ในปีที่ผ่านมาและ
#มีที่ 3 ปีนี้เราได้เห็นนโยบาย และการลงมืออย่างจริงจังในการป้องกันปัญหาแปะเจี๊ยะจากสำนักงานป.ป.ช. มีการประกาศนโยบาย แนวทางในการป้องกันแปะเจี๊ยะและเริ่มลงมือส่งเจ้าหน้าที่ลงไปพูดคุย ตรวจสอบผู้บริหารโรงเรียนดังทั่วประเทศ
ตรงนี้จึงเป็นแนวโน้มที่ดีที่จะแก้ไขปัญหาแปะเจี๊ยะได้แต่ว่าเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาแปะเจี๊ยะให้ได้จริงจังในระยะยาว ดีที่สุดก็คือว่าประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาระบบการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานเท่าเทียมกันทั่วประเทศ แปะเจี๊ยะจะหมดไปจริงจังเสียทีหนึ่ง ถ้าเราคนไทยช่วยกันคนละไม้คนละมือ


ACT Now EP.17.2 - กฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทยมีกฎหมายมากกว่า 15 ฉบับ
ที่ใช้ในการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน
กฎหมายแต่ละฉบับมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริหารจัดการและควบคุมคอร์รัปชันที่แตกต่างกันไป
คอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้าง การใช้อำนาจและดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ การออกใบอนุญาต อนุมัติ การบริหารงานบุคคลและการป้องกันการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน

ปัจจุบัน การพิจารณาว่าควรจะเพิ่มหรือแก้ไขกฎหมายฉบับใด เขามักจะอ้างอิงกับรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปัจจุบันหรือยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศและอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบปี ค.ศ.2003

กล่าวโดยสรุป การต่อต้านคอร์รัปชันจำเป็นจะต้องมีกฎหมายที่เข้มแข็งแต่ด้วยปัจจัยลบที่ยังดำรงอยู่ในระบบราชการ องค์กรของรัฐยังคงขยายบทบาทและอำนาจอย่างต่อเนื่อง เงื่อนไขทางการเมืองก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีนัก อีกทั้งพฤติกรรมเกี่ยวกับเรื่องอภิสิทธิ์ชน การอุปถัมภ์พวกพ้อง การใช้อำนาจนิยม สิ่งเหล่านี้ยังฝังตัวในสังคมอย่างเหนียวแน่น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้สังคมไทย ต้องเผชิญกับการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เที่ยงธรรมบ่อยครั้ง

การที่เรามีกฎหมายอยู่มากแต่ยังควบคุมคอร์รัปชันได้ไม่ดี แถมบางครั้งกฎหมายยังกลายเป็นภาระให้เกิดการทุจริตเสียเอง อำนาจรัฐและทรัพยากรของรัฐยังถูกใช้อย่างบิดเบือน ภายใต้อำนาจและดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มบางคน

ทางที่ดี จึงควรยึดกติกากันใหม่ว่า
“ต่อให้กฎหมายมีมากเท่าไรก็เอาชนะคอร์รัปชันไม่ได้”
“จำเป็นต้องอาศัยการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสและการตรวจสอบโดยภาคประชาชนเท่านั้นจึงจะเอาชนะคอร์รัปชันได้